วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
'เสือชีตาห์ 'กับอนาคต 'เปราะบาง'...!
เสือชีตาห์เป็นสัตว์ผู้สง่างามและเต็มไปด้วยความรวดเร็ว วันนี้สารคดีไทยรัฐออนไลน์นำเรื่องราวของพวกมันแล้วเรายังวิเคราะห์ไปไกลถึงอนาคตที่เปราะบางของมันด้วย...!
เสือชีตาห์เกาะกุมจินตนาการความอยากรู้ของมนุษย์มาช้านาน พยัคฆ์ผู้งามสง่า แปลกตา รวดเร็วราวรถสปอร์ต และเชื่องจนเลื่องลือ พวกมันคือดาวเด่นในวงการสื่อและประชากรแห่งพงไพร เป็นสัตว์โปรดของเหล่านักสร้างภาพยนตร์และคนในวงการโฆษณาทั่วโลก ภาพของเสือชีตาห์ที่โลดแล่นในวัฒนธรรมกระแสหลักอาจทำให้ใครหลายคนหลงคิดไปว่า เสือชีตาห์ยังคงอยู่รอดปลอดภัยในธรรมชาติ ไม่ต่างจากภาพในจินตนาการและการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ หากความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
เสือชีตาห์เป็นสัตว์วงศ์เสือและแมวที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุดในโลก ทั้งพบตัวได้ยากอย่างไม่น่าเชื่อและนับวันจะมีแต่หายากมากขึ้น ย้อนหลังไปราวสองสามศตวรรษก่อน เสือชีตาห์ท่องไปทั่วถิ่นอาศัยจากอนุทวีปอินเดียไปจนจรดชายฝั่งทะเลแดงและพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอฟริกา ทุกวันนี้ เสือชีตาห์พันธุ์เอเชียผู้งามสง่าซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ย่อยที่ครั้งหนึ่งเคยเยื้องกรายในราชอุทยานของมหาราชาแห่งอินเดีย เปอร์เซีย และดินแดนอาหรับ อยู่ในสถานะแทบไม่ต่างจากสูญพันธุ์ ส่วนในแอฟริกา ประชากรเสือชีตาห์ลดฮวบลงกว่าร้อยละ 90 ในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ หลังเผชิญแรงกดดันจากชาวไร่ชาวนา คนทำฟาร์มปศุสัตว์ และชนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ที่รุกไล่พวกมันออกจากถิ่นอาศัย ซ้ำร้ายยังตกเป็นเหยื่อของนักล่าสัตว์เพื่อเกมกีฬา และพรานป่าที่จับลูกเสือไปขายในตลาดค้าสัตว์แปลกที่ได้กำไรงาม โดยรวมแล้วทุกวันนี้เหลือเสือชีตาห์ในธรรมชาติมีไม่ถึง 10,000 ตัว
เสือชีตาห์ยังคงเป็นที่นิยมในซาอุดีอาระเบียและอีกหลายประเทศในอ่าวเปอร์เซีย โดยลูกเสืออาจมีสนนราคาสูงถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เสือชีตาห์ที่ถูกลักลอบนำเข้ามาจะถูก “ฟอก” และทำให้ดูเหมือนว่าได้รับการเพาะพันธุ์อย่างถูกกฎหมายในสถานเพาะเลี้ยง การระบุแหล่งที่มาของลูกเสือชีตาห์นั้นยากพอสมควร เว้นแต่จะทำการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมและระบุว่าเป็นชนิดพันธุ์ย่อยเฉพาะถิ่นของพื้นที่หนึ่งๆ เท่านั้น
การอนุรักษ์เสือชีตาห์พันธุ์เอเชียก็ไม่ต่างจากการเข็นครกขึ้นภูเขา ในช่วง 10 ปีของการติดตั้งกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าราว 50 ตัว นักวิจัยอิหร่านเก็บภาพเสือชีตาห์ได้เพียง 192 ภาพ ซึ่งบันทึกเรื่องราวของเสือชีตาห์ผอมโซ 76 ตัว ที่คาดว่าเป็นประชากรกลุ่มสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ของสายพันธุ์อันงามสง่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นไปทั่วเอเชีย ในการออกไล่ล่าแอนทิโลปและแกะภูเขาตามลาดผาสูงชันเต็มไปด้วยโขดหิน เสือชีตาห์ต้องแก่งแย่งแข่งขันกับหมาป่า และแม้กระทั่งมนุษย์ที่ล่ากาเซลล์และแกะเป็นแหล่งอาหารที่หาง่ายเช่นกัน
แหล่งอ้างอิง : http://www.thairath.co.th/content/306040
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)